Skip to main content

คณะอุตสาหกรรมบริการ

1. คณะอุตสาหกรรมบริการ

   Faculty of Hospitality Industry

2. ลักษณะโครงการ โครงการใหม่

3. ผู้รับผิดชอบโครงการ โครงการจัดตั้งภาควิชาอุตสาหกรรมบริการและนวัตกรรมภาษา (สอบน) คณะศิลปศาสตร์์และวิทยาศาสตร์ (อ.ดร.อนามัย ดำเนตร ประธานกรรมการ โทร. 034 281 105-6 ต่อ 7122 มือถือ 081 378 3008 อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

4. โครงการจัดตั้งภาควิชาอุตสาหกรรมบริการและนวัตกรรมภาษา (สอบน) คณะศิลปศาสตร์์และ วิทยาศาสตร์ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2551 ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะศิลปศาสตร์์และวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 12/2551 วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์การจัดการศึกษานานาชาติ (ศจศน) International Study Management Centre (ISMC) ภายหลังได้ขอเปลี่ยนชื่อใหม่อีก 3 ครั้ง เป็นศูนย์การศึกษาอุตสาหกรรมบริการนานาชาติ (ศอบน) International Service Industry Study Center (ISIS) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะศิลปศาสตร์์และวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 9/2552 วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552 โครงการจัดตั้งภาควิชาอุตสาหกรรมบริการ (สอบ) Department of Service Industry (DSI) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะศิลปศาสตร์์และวิทยาศาสตร์   ครั้งที่ 3/2553 วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553 และล่าสุดเปลี่ยนเป็นโครงการจัดตั้งภาควิชาอุตสาหกรรมบริการและนวัตกรรมภาษา (สอบน) Department of Service Industry and Language Innovation (DSIL) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะศิลปศาสตร์์และวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 7/2553 วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 อนึ่ง โครงการจัดจัดตั้งสายวิชาอุตสาหกรรมบริการและนวัตกรรมภาษา (สอบน) ได้เสนอขอปรับฐานะเป็นสายวิชาพร้อมกับโครงการจัดตั้งภาควิชาอื่นๆ ของคณะศิลปศาสตร์์และวิทยาศาสตร์แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการประจำวิทยาเขตกำแพงแสนประจำเดือนมกราคม 2554 ดังนั้น โครงการจัดจัดตั้งสายวิชาอุตสาหกรรมบริการและนวัตกรรมภาษา (สอบน) จึงคงสถานะเป็นโครงการจัดตั้งภายใต้คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตามเดิม

     ด้านงบประมาณในการดำเนินงาน โครงการจัดตั้งภาควิชาอุตสาหกรรมบริการและนวัตกรรมภาษา (สอบน) ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะศิลปศาสตร์์และวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 9/2552 วันพุธที่ 30 กันยายน 2552 ที่ประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 15/2552 วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2552 และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 12/2552 เมื่อ วันที่ 28 ธันวาคม 2552 และคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด ได้นำเสนอที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติ โครงการพิเศษเพื่อขอรับการสนับสนุนการลงทุนปี 2553 เงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในส่วนโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การศึกษาอุตสาหกรรมบริการนานาชาติ วงเงิน 270 ล้านบาท (ค่าก่อสร้างอาคารศูนย์การศึกษาอุตสาหกรรมบริการนานาชาติ 170 ล้านบาท ครุภัณฑ์ประกอบอาคาร 70 ล้านบาท และงบดำเนินการ 30 ล้านบาท)

     อนึ่ง โครงการจัดตั้งภาควิชาอุตสาหกรรมบริการและนวัตกรรมภาษา (สอบน) ได้บันทึกขอรับการจัดสรรพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์การศึกษาอุตสาหกรรมบริการนานาชาติสูง 9 ชั้น จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (บันทึกข้อความที่ ศธ 0513.20417/0007 ลงวันที่  18 กุมภาพันธ์ 2553) โดยการพิจารณาของคณะกรรมการภูมิสถาปัตย์และสิ่งแวดล้อมของวิทยาเขตกำแพงแสน ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2553 วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2553 ให้เลื่อนการพิจารณาการจัดสรรพื้นที่ดังกล่าวออกไปในการประชุมครั้งที่ 2 เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา หลังจากนั้นในการประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553 คณะกรรมการภูมิสถาปัตย์และสิ่งแวดล้อมของวิทยาเขตกำแพงแสนได้มีมติให้ก่อสร้างอาคารศูนย์การศึกษาอุตสาหกรรมบริการนานาชาติสูง 9 ชั้น ณ บริเวณ D-E 6 (แปลงนาหลังอาคารไบโอเทค คณะเกษตร กำแพงแสน) เนื่องจากเป็นพื้นที่อาคารสูงของวิทยาเขต หากก่อสร้างในพื้นที่เป็นพื้นที่การศึกษาของวิทยาเขตจะต้องลดจำนวนความสูงของอาคารลงจาก 9 ชั้น (33 เมตร) เป็น 7 ชั้น (23 เมตร) หลังจากนั้นที่ประชุมกรรมการประจำวิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 6/2553 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2553 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดสรรพื้นที่บริเวณ I-J 5-6 (บริเวณสวน 70 พรรษามหาราชินีและพื้นที่ติดสำนักหอสมุดกำแพงแสนหลังถนนแปรงล้างขวด ตรงกันข้ามด้านหลังอาคาร SC5 ของคณะศิลปศาสตร์์และวิทยาศาสตร์) โดยมีข้อแม้ว่าตึกจะต้องสูงไม่เกิน 7 ชั้น เนื่องจากมติของกรรมการประจำวิทยาเขตมีความเห็นต่างจากมติของกรรมการภูมิสถาปัตย์และสิ่งแวดล้อม วิทยาเขตกำแพงแสน ดังนั้นคณะกรรมการภูมิสถาปัตย์และสิ่งแวดล้อม วิทยาเขตกำแพงแสน จึงได้ประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 และมีมติเห็นชอบตรงกับมติของกรรมการประจำวิทยาเขตกำแพงแสน

5. หลักการและเหตุผล 

     เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและตอบสนองยุทธศาสตร์การศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เน้นการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ ที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง เนื่องจากในปัจจุบันภาษาอังกฤษ ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาสากล (English as an International Language/ Lingua Franca) ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารทั่วโลก ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษา การเรียนรู้และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ (Language Acquisition) จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่โลก และวิทยาการทั้งหลายได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) ซึ่งเป็นองค์การทางภูมิศาสตร์การเมืองและองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 10 ประเทศได้แก่ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ อนึ่ง อาเซียนได้กำหนดแผนที่จะก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2558 นั่นหมายความว่าเมื่อเวลาดังกล่าวมาถึงการติดต่อสื่อสารของมวลสมาชิกทั้ง 10 ประเทศนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อรวมถึงการใช้เงินตราสกุลเดียวกันด้วย นอกจากภาษาอังกฤษ (World Englishes) ที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญแล้ว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่นและภาษาเกาหลีเป็นภาษาต่างประเทศที่มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะการทำธุรกิจและติดต่อการค้ากับประเทศในแถบภูมิภาคนี้และเป็นที่ยอมรับว่าธุรกิจที่สามารถทำรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมากคือธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ อันได้แก่ การโรงแรม การท่องเที่ยว ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจการบิน) ดังนั้น การพัฒนา และนำความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และภาษาเกาหลีมาบูรณาการกับความรู้ด้านการโรงแรมการท่องเที่ยว ธุรกิจระหว่างประเทศและธุรกิจการบินจึงเป็นศาสตร์ที่ควรให้ความสำคัญ คณะศิลปศาสตร์์และวิทยาศาสตร์ จึงได้เสนอโครงการจัดตั้งภาควิชาอุตสาหกรรมบริการและนวัตกรรมภาษาขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตให้มีความรู้และทักษะการวิจัยด้านการบูรณาการภาษากับธุรกิจอุตสาหกรรมบริการและศาสตร์อื่นที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพและป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และนานาชาติ

6. วัตถุประสงค์ของโครงการ

6.1 เพื่อผลิตบัณฑิตด้านอุตสาหกรรมบริการให้มีความรู้ความสามารถและนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6.2 เพื่อพัฒนามหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตให้เป็นผู้นำทางวิชาการในประเทศและเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลให้ได้มาตรฐานสากล 6.3 เพื่อพัฒนามหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตให้สามารถทำงานวิจัยด้านภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ

6.4 เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และนานาชาติในการพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมบริการ

6.5 สร้างมาตรฐานและความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับนานาชาติ มีความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนอาจารย์ นิสิต และการศึกษาต่อเนื่อง

6.6 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาพื้นฐานหลักสูตรนานาชาติโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อให้กับคณะและสถาบันในวิทยาเขตกำแพงแสนที่พร้อมจะเปิดสอนด้วยหลักสูตรนานาชาติ รวมทั้งจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ ภาคภาษาไทยของตัวเองอีกด้วย

6.7 เพื่อเป็นหน่วยงานในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยหลักสูตรระยะสั้น 1 ปีให้กับนิสิตจากต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภาคภาษาไทย

6.8 แสวงหาความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานระดับชาติและนานาชาติเพื่อให้การดำเนินงานของโครงการจัดตั้งภาควิชาอุตสาหกรรมบริการและนวัตกรรมภาษาสำเร็จผลดังที่ตั้งเป้าหมายไว้

6.9 เพื่อนสนองนโยบายของวิทยาเขตกำแพงแสน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการให้บริการวิชาการด้านภาษาต่างประเทศ

7. สถานะของหน่วยงาน 

     ในระยะแรกเริ่มของโครงการ 2551-ปัจจุบัน เป็นโครงการจัดตั้งภาควิชามีฐานะเทียบเท่าสายวิชา สังกัดคณะศิลปศาสตร์์และวิทยาศาสตร์ ในอนาคตจะได้เสนอขออนุมัติเป็นโครงการจัดตั้งคณะหรือวิทยาลัยนานาชาติต่อไป

8. ภารกิจ

8.1 จัดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติระดับบัณฑิตศึกษา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล

8.2 จัดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) สาขาวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่ออุตสาหกรรมบริการ สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (หลักสูตรภาษาไทย) สาขาวิชาการเดินทางและท่องเที่ยว 

8.3 จัดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรี บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน (หลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ) 

8.4 จัดการเรียนการสอนรายวิชาพื้นฐานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษให้กับหลักสูตรนานาชาติของทุกคณะและสถาบันในวิทยาเขตกำแพงแสน

8.5 จัดการเรียนการสอนหลักสูตร Joint Programme and Double Degree กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

8.6 เป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางวิชาการด้านการอบรมภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรระยะยาว หลักสูตรเข้มข้น และหลักสูตรต่อเนื่องให้กับบุคลากร นิสิต และนักเรียนในวิทยาเขตกำแพงแสน และผู้สนใจในชุมชนใกล้เคียง โดยเน้นทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน การแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และการแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ

8.7 เป็นศูนย์กลางในการวิจัยด้านนวัตกรรมภาษาในระดับชาติและนานาชาติ

8.8 เป็นศูนย์กลางในการจัดการทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษระดับชาติ และนานาชาติ (TOEIC, TOEFL, IELTS, etc.) ของนิสิตระดับปริญญาตรี บัณฑิตศึกษาและผู้สนใจทั่วไปใน วิทยาเขตกำแพงแสน

8.9 เป็นศูนย์กลางในการจัดประชุมทางวิชาการด้านนวัตกรรมภาษา

8.10 ร่วมมือกับองค์กรระดับชาติและนานาชาติเพื่อดำเนินการให้ภารกิจในข้อ 1 – 7 ข้างต้น สัมฤทธิ์ผลดังจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้

8.11 สนองนโยบายของวิทยาเขตกำแพงแสน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทุกประการ